ประกันสุขภาพ สำคัญจริงหรือ
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงการประกันสุขภาพเท่าใดนัก โดยเฉพาะผู้ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่จริงๆแล้วการวางแผนทางการเงินนั้น การมีหลักประกันทางด้านสุขภาพถือว่ามีความสำคัญเป็นลำดับต้นเลยทีเดียว ถ้าเรียงลำดับตามความสำคัญแล้วคือ
- ทำประกันสุขภาพ
- ทำประกันอุบัติเหตุ/ทุพพลภาพ
- ทำประกันชีวิต (กรณีมีผู้อยู่ภายใต้การอุปการะ)
- จ่ายคืนหนี้บัตรเครดิต และเงินกู้ส่วนบุคคล
- ให้เต็มสิทธิRMF LTF ลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเป็นลูกจ้างก็มีสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายในการเข้ารักษา มีโอกาสเลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสถานพยาบาลที่ต้องการโดยได้รับความคุ้มครองในระดับที่สูงพอสมควร หรือสูงเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง การทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมก็เป็นอีกทางเลือกในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับตนเอง
การละเลยที่จะทำประกันสุขภาพด้วยหลายเหตุผล
1. เป็นคนร่างการแข็งแรง ไม่เคยแม้แต่จะเป็นหวัด จริงๆแล้วคนร่างกายแข็งแรงอาจมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลโดยรวมสูงกว่าคนร่างกายไม่แข็งแรงก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป ร่างกายของคนที่ได้ชื่อว่าแข็งแรงก็จะเริ่มอ่อนแอลง และมีอาการของโรคต่างๆทยอยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งด้วยความที่เป็นคนแข็งแรงก็มีโอกาสที่จะอยู่ไปนานกว่า (พร้อมด้วยอาการเจ็บป่วยที่มี) ในขณะที่ผู้แข็งแรงน้อยกว่าก็อาจจากไปก่อนที่จะมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลต่อเนื่องเกิดขึ้น โดยจากข้อมูลของ Center for Retirement Research at Boston College ในปี 2552 พบว่า คู่สามีภรรยาอายุ 65 ปี ที่มีสุขภาพดี จะมีประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนกว่าจะเสียชีวิต (คิดบนมูลค่าปัจจุบัน) ที่ 260,000เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ประมาณการค่าใช้จ่ายของคู่สามีภรรยาที่สุขภาพไม่ดีจะอยู่ที่ 220,000 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น
2. ที่ทำงานมีประกันสุขภาพให้อยู่แล้ว การประกันสุขภาพให้พนักงานนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบการประกันกลุ่มซึ่งมักจะมีความคุ้มครองตามจริงแต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนด และจะคุ้มครองเฉพาะเมื่อเป็นพนักงานของบริษัทเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากงาน หรืออยู่ระหว่างหางานใหม่ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด
3. เบี้ยประกันแพงจ่ายแล้วทิ้ง เก็บเงินไว้จ่ายค่ารักษาเองดีกว่า จริงอยู่ที่ว่าการประกันสุขภาพเป็นประกันที่มีเบี้ยสูง อีกทั้งยัง ไม่ได้อะไรกลับคืนมา (นอกจากความคุ้มครอง) แต่หากเราเลือกประหยัดค่าเบี้ยปีละ 3 หมื่นบาท 5 ปี รวมเป็น 150,000 บาท แล้วเกิดต้องผ่าตัดใหญ่ซึ่งต้องใช้อย่างน้อย 6 -7 แสนบาท เบี้ยที่ประหยัดได้ก็จะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น การจ่ายค่าเบี้ยที่ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการแลกกับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่ไม่แน่นอนและอาจมีจำนวนสูงในแต่ละปีได้
4. รอ อายุมากๆแล้วค่อยทำประกันสุขภาพก็ได้ การรอจนอายุมากๆมีความเสี่ยงที่ผู้ทำประกันอาจเริ่มมีอาการเจ็บป่วย ซึ่งบริษัทประกันจะไม่คุ้มครองในโรคซึ่งเป็นมาก่อนการทำประกัน นอกจากนี้ การไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงก็เป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธการคุ้มครองโรค ต่างๆที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ดังนั้น หากเริ่มทำประกันสุขภาพไว้ตั้งแต่อายุยังน้อยก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูก ปฏิเสธความคุ้มครองในหลายๆโรคจากบริษัทประกันได้
ปัจจุบันการประกันสุขภาพมีทั้งในลักษณะเป็นอนุสัญญาเพิ่มจากประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่ไม่รับประกันการต่ออายุในแต่ละปี และประเภทที่รับประกันการต่ออายุ ทั้งนี้ เบี้ยประกันในแต่ละปีจะปรับเพิ่มขึ้นตามอายุและการเรียกร้องสินไหมในปีก่อนหน้า ซึ่งผู้ซื้อประกันควรจะต้องศึกษากรมธรรม์ให้ละเอียดก่อนที่จะทำสัญญา โดยสามารถสอบถามข้อมูลและร้องเรียนหากไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ขอบคุณข้อมูลโดย : ดารบุษป์ ปภาพจน์ , portal.settrade.com